พลังความคิดของมนุษย์
“หากไม่มีความคิดแล้ว มนุษย์คงมีชีวิตเช่นเดียวกับสัตว์อื่นๆทั่วไป”
มนุษย์ จัดเป็นสิ่งมีชีวิตในกลุ่มเลี้ยงลูกด้วยนม (Mammal) มีรูปร่างที่คล้ายคลึงกับลิงคน (Ape) มีการพัฒนาเรื่อยมานับตั้งแต่เริ่มแรกจากการเป็นมนุษย์โฮโม แฮบิลิส มนุษย์โฮโม อิเลคตัส พัฒนามาจนถึงรูปแบบปัจจุบันคือ มนุษย์โฮโม ซาเปียนส์ แต่ก่อนหน้านั้นมนุษย์ใช้ชีวิตตามสัญชาตญาณมากกว่าจะใช้ความคิดตามหลักตรรกเหตุผล มีสภาพความเป็นอยู่ตามสิ่งแวดล้อมนั้นๆ แต่อย่างไรก็ตามสิ่งมีชีวิตทุกชนิดย่อมมีการปรับตัวเพื่อดำรงชีวิตอยู่และสืบเผ่าพันธุ์ต่อให้สอดคล้องเกื้อกูลกัน ดังนั้นมนุษย์เองย่อมมีวิวัฒนาการเช่นเดียวกับสัตว์อื่น มนุษย์จึงวิวัฒนาการมาถึงการเป็นสัตว์โลกที่มีความสามารถเหนือสัตว์อื่นๆทุกชนิดด้วยสองมือ หัวสมองที่ใหญ่และกระดูกสันหลังที่ตั้งฉากกับพื้นโลก รวมกับการพัฒนาทางด้านความคิดที่ชาญฉลาด ทำให้มนุษย์มีบทบาทบนระบบนิเวศโลกที่แตกต่างไปจากสัตว์อื่นๆ มนุษย์สามารถจัดการเปลี่ยนแปลงสิ่งแวดล้อมต่างๆ โดยการใช้ความคิดเปลี่ยนแปลงสิ่งแวดล้อมนั้นๆให้เหมาะสมแก่การดำรงชีวิตอยู่และเพื่อความสะดวกสบายแก่ตนเอง มนุษย์อาศัยการวิวัฒนาการเหล่านี้สร้างสมประสบการณ์และค่อยๆพัฒนาทางความคิดเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ มีการคิด มีความรู้สึก และสร้างสรรค์สิ่งที่ทั้งดีและร้ายได้ ยิ่งมนุษย์มีความพยายามรักษาชีวิตมากขึ้นเท่าไหร่ มนุษย์ก็ยิ่งมีใช้ความคิดมากขึ้น คิดแล้วก็ทำ ทำแล้วก็คิดต่อไปอีกเรื่อยๆ ความคิดทำให้เกิดศาสตร์แขนงต่างๆ ศิลปะวิทยาการ เครื่องดนตรี ระบอบการเมืองการปกครอง สงคราม และการพัฒนา ความคิดของมนุษย์แต่ก่อให้เกิดผลลัพธ์ต่างๆมากมาย จนอาจจะกล่าวได้ว่า ความคิดนั้นถือเป็นพลังที่ขับเคลื่อนวิถีชีวิตที่ไม่ใช่เพียงแค่ของมนุษย์เท่านั้นแต่รวมทั้งระบบนิเวศของโลกให้เปลี่ยนแปลงไปได้ทุกๆทาง
พลังความคิด : การเรียนรู้
มนุษย์มีการเรียนรู้ และการเรียนรู้เป็นนี่เองที่ทำให้มนุษย์สามารถก้าวข้ามขีดจำกัดของธรรมชาติและร่างกายตัวเองได้ มนุษย์รู้จักที่จะเรียนรู้ในสิ่งที่เกิดขึ้นต่างๆรอบตัวอย่างไม่มีที่สิ้นสุดในขณะเดียวกันมนุษย์ก็จดจำสิ่งที่เกิดขึ้นเหล่านั้นและคิดค้นเป็นทฤษฎีมากมาย การเรียนรู้นั้นคือกระบวนการที่ทำให้มนุษย์เปลี่ยนแปลงพฤติกรรม ความคิด มนุษย์สามารถเรียนได้จากการประสบพบเจอจากประสบการณ์ที่ผ่านๆมาและได้สัมผัสกับความจริงเหล่านี้ รู้และเข้าใจ จากนั้นจึงนำมาประยุกต์ใช้ วิเคราะห์ถึงองค์ประกอบและความความแตกต่างของสิ่งที่รู้มาใหม่กับสิ่งที่เคยพบเจอมาก่อน และสังเคราะห์ความรู้ที่ได้จากการวิเคราะห์นั้นนำไปใช้ประโยชน์ สิ้นสุดกระบวนการประการสุดท้ายคือ การประเมินค่าว่าสิ่งที่ได้เรียนรู้มานั้นมีความสำคัญมากน้อยเพียงไร และถูกผิดหรือไม่
ความหมายของการเรียนรู้ : ความหมายของคำว่า “การเรียนรู้” มีนักจิตวิทยาได้ให้ความหมายของการเรียนรู้ไว้หลายท่านในที่นี้จะสรุปพอเป็นแนวทางให้เข้าใจดังนี้คือ
การเรียนรู้ หมายถึง การที่มนุษย์ได้รับรู้ถึงสิ่งแวดล้อมที่อยู่รอบตัวเขา โดยเริ่มต้นตั้งแต่การมีปฏิสนธิอยู่ในครรภ์มารดาเรื่อยไป จนกระทั่งคลอดมาเป็นทารกแล้วอยู่รอด ซึ่งบุคคลก็ต้องปรับตัวเพื่อให้ตนเองอยู่รอดกับสิ่งแวดล้อมทั้งภายในครรภ์มารดาและเมื่อออกมาอยู่ภายนอกเพื่อให้ชีวิตดำรงอยู่รอดทั้งนี้ก็เพราะการเรียนรู้ทั้งสิ้น
การเรียนรู้ มีความหมายลึกซึ้งมากกว่าการสั่งสอน หรือการบอกเล่าให้เข้าใจและจำได้เท่านั้น ไม่ใช่เรื่องของการทำตามแบบ ไม่ได้มีความหมายต่อการเรียนในวิชาต่างๆเท่านั้น แต่ความหมายคลุมไปถึงการเปลี่ยนแปลงทางพฤติกรรมอันเป็นผลจากการสังเกตพิจารณา ไตร่ตรอง แก้ปัญหาทั้งปวง และไม่สามารถชี้ชัดว่าการเปลี่ยนแปลงนั้นเป็นไปในทางที่สังคมยอมรับหรือไม่ การเรียนรู้เป็นการปรับตัวให้เข้ากับสิ่งแวดล้อม การเรียนรู้เป็นความเจริญงอกงาม เน้นว่าการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมที่เป็นการเรียนรู้ต้องมาจากประสบการณ์ หรือการฝึกหัด และพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงไปนั้นควรจะต้องมีความคงทนถาวรเหมาะแก่เหตุเมื่อพฤติกรรมดั้งเดิมเปลี่ยนไปสู่พฤติกรรมที่มุ่งหวัง ก็แสดงว่าเกิดการเรียนรู้แล้ว
การเรียนรู้ หมายถึง การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมอันมีผลมาจากการได้มีประสบการณ์
การเรียนรู้ หมายถึง กระบวนการที่ทำให้เกิดกิจกรรม หรือ กระบวนการที่ทำให้กิจกรรมเปลี่ยนแปลงไปโดยเป็นผลตอบสนองจากสภาพการณ์หนึ่งซึ่งไม่ใช่ปฏิกิริยาธรรมชาติไม่ใช่วุฒิภาวะและไม่ใช่สภาพการเปลี่ยนแปลงของร่างกายชั่วครั้งชั่วคราวที่เนื่องมาจากความเหนื่อยล้าหรือฤทธิ์ยา
การเรียนรู้ หมายถึง กระบวนการที่เนื่องมาจากประสบการณ์ตรงและประสบการณ์อ้อมกระทำให้อินทรีย์เกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมค่อนข้างถาวร
การเรียนรู้ หมายถึง การเปลี่ยนแปลงค่อนข้างถาวรในพฤติกรรม ซึ่งเป็นผลของการฝึกหัด
จากความหมายของการเรียนรู้ข้างต้นอาจสรุปได้ว่า การเรียนรู้ หมายถึง การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมอันเป็นผลจากการที่บุคคลทำกิจกรรมใดๆ ทำให้เกิดประสบการณ์และเกิดทักษะต่างๆ ขึ้นยังผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมค่อนข้างถาวร
Toolyada
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น