วันเสาร์ที่ 13 มีนาคม พ.ศ. 2553

Pi day (วันค่าพาย)

Pi Day(วันค่าพาย)

วันค่าพาย(Pi Day)หรือ วันค่าประมาณของพาย (Pi Approximation Day )เป็น 2 วันหยุดที่ถือว่าเป็นการฉลองค่าคงที่คณิตศาสตร์ หรือค่าพาย(ใน เดือน/วัน คือ 3/14) เพราะว่า 3 1 และ 4 เป็นสามค่าหลักแรกของค่าพาย อีกทั้งวันที่ 14 มีนาคมยังเป็นวันเกิดของ อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ (Albert Einstein) และสองเหตุการณ์นี้บางครั้งมักจะถูกฉลองร่วมกัน

วันค่าโดยประมาณของพายนั้นยังถูกจับตามองในวันที่ 22 กรกฎาคม เพราะว่าเป็นค่าโดยประมาณที่นิยมของพายคือ 22/7 (อ่านว่า ยี่สิบสองส่วนเจ็ด)ที่อาร์คิมิดิสคำนวนไว้ อย่างไรก็ตามบางทีค่านี้มักถูกเลือกจากความเข้าใจผิดเนื่องจากอ้างวันที่ให้เป็น”วันค่าโดยประมาณ”(เพราะว่าพายคือจำนวนอตรรกยะ) และค่า 22/7 ตามความเป็นจริงแล้วนั้นใกล้เคียงค่าพายโดยประมาณกว่า 3.14 โดยปกติ มีนาคม 14 เป็นที่นิยมในประเทศที่ใช้รูปแบบวันที่ “เดือน/วัน/ปี” และวันที่ 22 กรกฎาคม เป็นที่นิยมในประเทศที่ใช้รูปแบบวันที่ “วัน/เดือน/ปี”

บางครั้งค่านาทีพายจะถูกฉลอง สิ่งนี้จะเกิดขึ้นในเดือนมีนาคม วันที่ 14 เวลา 1.59 น. ถ้าต้องการต่อยอดให้มีค่าทศนิยมเจ็ดตำแหน่ง มันจะมีค่าเท่ากับ 3.1415926 มาจากเลข เดือน 3 วันที่ 14 เวลา 1:59:26 น. คือค่าวินาทีพาย(หรือบางครั้งจะนับโดย เดือน 3 วันที่ 14 ปี 1592 เวลา 6:53:58 น. เท่ากับค่าพาย 3.14159265358…) มีหลากหลายวิธีมากในการเฉลิมฉลองวันค่าพายและวิธีที่ทำกันโดยมากคือการกินพาย(ขนมอบชนิดหนึ่งที่พ้องเสียงกับคำว่า พาย)และพูดคุยเกี่ยวกับเรื่องสัญลักษณ์พาย วันค่าพายถูกจัดครั้งแรกที่พิพิธภัณฑ์สำรวจซานฟรานซิสโกในปี 1988 โดยเจ้าหน้าที่และประชาชนเดินขบวณล้อมรอบเป็นวงกลมจากนั้นก็บริโภคพายผลไม้ ภายหลังทางพิพิธภัณฑ์ได้เพิ่มพิซซ่าเข้าเป็นเมนูในวันค่าพายด้วย ผู้ก่อตั้งวันค่าพายคือ แลรี่ ชอว์ ปัจจุบันเกษียณออกจากการเป็นนักฟิสิกส์ที่พิพิธภัณฑ์สำรวจและเป็นผู้ที่สนับสนุนการจัดงานฉลอง



ที่มา:http://en.wikipedia.org/wiki/Pi_Day



หลังจากที่นั่งแปลอย่างหยาบๆที่สุดเพราะความรู้ด้านหลักภาษาค่อนข้างแย่(และเชื่อได้เลยค่ะว่าต้องแปลผิดแน่ๆในบางประโยค) มากว่าหนึ่งชั่วโมงเต็ม ผลสำเร็จที่ได้ก็ออกมาอย่างที่ทุกท่านเห็นเนี่ยแหละค่ะ เนื้อหาเรานำมาจากเว็บ Wikipedia นะคะ (อันที่จริงมันมีรายละเอียดปลีกย่อยอีกนิดหน่อยค่ะ แต่แปลไม่ไหวเพราะแปลเองก็นั่งงงเองว่าแปลถูกมั๊ย) อธิบายย่ออีกเล็กน้อยก็คือว่า ในวันค่าพายจะมีการเฉลิมฉลองการเกิดขึ้นของค่าพายน่ะค่ะ แต่เนื่องจากเป็นนักคณิตศาสตร์ก็คงต้องเเนวๆคณิตศาสตร์ไว้ก่อน จึงมีการเอาค่าพายซึ่งก็คือ 3.14 โดยประมาณมาตั้งเป็นวันเฉลิมฉลองค่าพายน่ะค่ะ

ในวันนี้จากประสบการณ์ที่รุ่นพี่ท่านหนึ่งเคยเล่าให้ฟังว่า ในวันค่าพาย(แล้วแต่ท้องที่ว่าจัดเมื่อไหร่) จะจัดงานเลี้ยงกันเล็กๆน้อยๆที่ภายในงานจะมีแค่พายหลากหลายชนิดเเละเครื่องดื่ม จากนั้นก็เป็นการพบปะสังสรรค์ระหว่างนักคณิตศาสตร์หรือนักฟิสิกส์มานั่งพูดคุยกันเรื่องพายกันน่ะค่ะ ซึ่งเราเองสนใจอย่างเดียวคือ กินพาย เราล่ะอยากเข้าร่วมงานเลี้ยงนี้มากๆเลยล่ะค่ะ นั่งฟังนักเรียนหัวกะทินั่งคุยกันค่อยๆเก็บเกี่ยวความรู้ไปเรื่อยๆพร้อมกับถือจานใส่พายอร่อยๆและกินไปด้วย โอ้! มันต้องน่าสนุกมากๆแน่เลยล่ะค่ะ เสียดายที่เมืองไทยไม่มีใครจัดให้เห็นเลย ถ้าจะจัดก็ใช้พิซซ่าแทนได้นะคะ มันเป็นวงกลมเหมือนกันค่ะ แต่อย่างไรก็ตามนะคะ มีเว็บมากมายที่มีข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องนี้เช่นกันค่ะ ลองสำรวจดูด้านล่างนะคะ เผื่อท่านไหนสนใจลองติดตามดูได้ค่ะ

แหล่งข้อมูลอื่นๆ


http://gotoknow.org/blog/sombhop/343950
http://www.tikanaht.com/doodle-pi-day/
http://en.wikipedia.org/wiki/Pi_Day
http://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B8%A7%E0%B8%B1%E0%B8%99%E0%B8%9E%E0%B8%B2%E0%B8%A2
http://it.wikipedia.org/wiki/Giorno_di_pi_greco
http://fr.wikipedia.org/wiki/Journ%C3%A9e_de_pi
http://www.exploratorium.edu/pi
http://www.tlcthai.com/webboard/view_topic.php?table_id=1&cate_id=97&post_id=81565&title=%C1%D2%C3%D9%E9%A8%D1%A1%C7%D1%B9%BE%D2%C2-%28Pi-Day%29-%A1%D1%B9%E0%B6%CD%D0-
http://pantip.com/cafe/wahkor/topic/X8983004/X8983004.html
http://www.pidayinternational.org/a894046-just-in-time-for-pi-day.cfm



Did you know?
This year's Pi Day is also Albert Einstein's 131st birthday.
Happy Birthday, Al!
Toolyada

พลังความคิด(จบ)

พลังความคิด : การทำลาย

          พลังความคิดของการทำลายนั้น บางครั้งเองก็ออกมาโดยตั้งใจหรือไม่ตั้งใจจากจิตใจของมนุษย์เราทั้งนั้น แต่ถึงแม้จะตั้งใจหรือไม่อย่างไรก็ตามแต่ ความคิดนี้ เราเรียกกันว่าความคิดเชิงลบ พลังความคิดเชิงลบนั้นหรือการมองโลกในแง่ร้ายนั้น ถือว่าเป็นการทำลายทั้งต่อมนุษย์เราเองและสิ่งแวดล้อมรอบๆตัวเราด้วย หากถามว่าความคิดเชิงลบคืออะไร ความคิดเชิงลบคือความรู้สึกหรือความคิดที่ว่าสิ่งต่างๆรอบกายนั้นช่างเลวร้ายเหลือเกิน คิดว่าไม่ว่าสิ่งไหนก็ตามต่างก็ไร้ซึ่งประโยชน์และคุณค่าความหมายใดๆในตัวของมันเอง เพราะได้ถูกตัดสินจากผู้ที่มีวิธีการคิดเชิงลบ ตัดสินไว้แล้วว่ามันเป็นสิ่งที่ไม่ดีและไม่สามารถแก้ไขในทางที่ดีขึ้นได้แล้ว ความคิดเช่นนี้ถือว่าเป็นความคิดที่ไม่ดี เมื่อใดก็ตามที่มนุษย์คนหนึ่งคนใดมีความคิดเช่นนี้แล้ว สิ่งแรกที่จะเกิดขึ้นคือส่งผลเสียต่อสุขภาพจิตและการใช้ชีวิตของเขาเอง มนุษย์เหล่านี้มักจะเต็มไปด้วยความหมองเศร้า โกรธแค้นอยู่เสมอๆ ในลำดับถัดมาคือ เกิดผลกระทบต่อการกระทำต่างๆที่สร้างความเสียหายให้แก่ประชากร สังคม ประเทศหรือโลก

         มีเด็กชายคนหนึ่งเกิดและเติบโตมาในประเทศที่พ่ายแพ้จากสงครามโลกครั้งที่ 1 ศักดิ์ศรีของประเทศในความคิดของเด็กคนนี้นั้นถูกทำลายอย่างย่อยยับและน่าอับอาย เขาเกลียดชาวยิวที่เข้ามาแสวงหาผลประโยชน์ในประเทศของเขาเป็นอย่างมาก เมื่อเขาโตขึ้น เขาจึงจัดตั้งกลุ่มทางการเมือง ตั้งตนเป็นหัวหน้า เดินหน้าหาเสียงอภิปรายไปยังที่ต่างๆจนสามารถรวบรวมคนที่มีแนวคิดคล้ายๆกันกับเขา กล่าวคือ เขาคิดว่าจะต้องนำพาประเทศชาติกลับไปรุ่งเรืองเป็นใหญ่อีกครั้ง ไม่ต้องตกเป็นประเทศที่พ่ายแพ้จากสงครามอีก ก้าวไปสู่ความยิ่งใหญ่ และสิ่งที่เขาวาดฝันไว้จะต้องได้มาจากการต่อสู้เท่านั้น เขาปลุกใจประชาชนให้ฮึกเหิมและก่อสงครามขึ้น จากนั้นมาสงครามโลกครั้งที่ 2 ก็อุบัติขึ้นอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ เกิดเป็นสงครามที่โหดร้ายและรุนแรง ถือเป็นโศกนาฏกรรมบทหนึ่งของประวัติศาสตร์โลกสงครามที่เริ่มขึ้นภายใต้การนำของ อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ แห่งพรรคนาซี ในเยอรมันนี

         จากกรณีชี้ให้เห็นได้อย่างชัดเจนว่า ความคิดนั้นหากเราคิดไปในแง่ร้ายหรือคิดไปในทางที่ไม่ดีและสามารถกระทำได้แล้ว แม้เป็นเพียงความคิดของมนุษย์เพียงคนเดียวก็สามารถสร้างความน่าสะพรึงกลัวและความแตกแยกไปทั่วทั้งโลกได้ แต่ถึงแม้ว่าความคิดเชิงลบจะน่ากลัวแต่ก็สามารถทำให้เกิดสิ่งใหม่ๆได้เช่นกัน



พลังความคิด : ภาคสรุป

              มนุษย์นั้นมีความรู้สึกนึกคิดมากมาย ความคิดที่ทำให้เกิดการเรียนรู้ ความคิดที่ก่อให้เกิดการสร้างสรรค์ สิ่งประดิษฐ์และอารยธรรมต่างๆ และความคิดเห็นที่สามารถทำลายล้างคนได้ทั้งโลก ไม่ว่าจะเป็นความคิดในแบบใด มนุษย์ย่อมรู้จักที่จะหาวิธีผสมผสานความคิดทั้งหลายเหล่านี้มารวมกันเพื่อให้ประโยชน์แก่ตนเอง ในขณะเดียวกันแม้จะแตกต่าง แต่ความคิดย่อมมีความสัมพันธ์เสมอจนไม่อาจแยกออกได้อย่างสมบูรณ์ เพราะมนุษย์เรียนรู้สิ่งต่างๆรอบตัวไม่ว่าจะเป็นต้นไม้ใบหญ้า ปรากฏการณ์ตามธรรมชาติต่างๆหรือเรียนรู้จากการกระทำของมนุษย์ด้วยกันเองเป็น จึงก่อให้เกิดการคิดเพื่อสร้างสรรค์ ประดิษฐ์สิ่งของและคิดค้นทฤษฏีต่างๆ รังสรรค์อารยธรรมมากมายเพื่อความเจริญก้าวหน้าของมนุษยชาติ เมื่อสร้างแล้วมนุษย์เราย่อมจะเกิดความคิดที่จะทำลายเมื่อเห็นว่าสิ่งที่มีอยู่ไม่ดีพอหรือไม่มีประโยชน์แล้วโดยคิดหาวิธีกำจัดสิ่งไม่ดีๆเหล่านั้นไป เมื่อทำลายมนุษย์รุ่นต่อมาก็จะเกิดการเรียนรู้ถึงสิ่งที่ผิดพลาดมาในอดีต คิดค้นพัฒนาขึ้นใหม่ สร้างสรรค์ให้ดียิ่งๆขึ้นไป เรียนรู้ สร้างสรรค์ ทำลาย เกิดเป็นวัฎจักรทางความคิดเช่นนี้ไปเรื่อยๆซ้ำๆไม่มีที่สิ้นสุดตราบเท่าที่มนุษย์ยังคงมีลมหายใจอยู่ และมนุษย์ก็ใช้พลังแห่งความคิดนี้หมุนโลกไปตามอย่างที่ใจมนุษย์ต้องการ





Toolyada

พลังความคิด(2)

พลังความคิด : การสร้าง

           ความคิดแห่งการสร้างนั้นถือว่าเป็นความคิดเชิงบวก ความคิดเชิงบวกคือการที่เรารู้สึกดีกับการพบเจอสิ่งใหม่ๆ มีเรียนรู้และทดลองทำในสิ่งที่ท้าทายโดยไม่ต้องกังวลว่าจะเกิดผลร้ายๆขึ้น โดยการสร้างนั้นไม่มีการจำแนกว่าดีหรือร้ายทั้งสิ้น

          พลังความคิดในการสร้างตัวตน คำว่า “ตัวตน” ในที่นี้ กล่าวถึงในแง่ความหมายของสิ่งต่างๆรอบตัวเราที่เป็นทั้งรูปธรรม เช่น คน สัตว์ โต๊ะ เก้าอี้ คอมพิวเตอร์ และนามธรรม เช่น ความรัก ความดี ความชั่ว ศีลธรรม สิ่งต่างๆเหล่านี้มนุษย์ล้วนแต่ใช้ความคิดอันชาญฉลาดสร้างความหมายและสร้างการมีตัวตนของสิ่งเหล่านี้ขึ้นมาทั้งนั้นและคิดค้นระบบภาษาขึ้นมาใช้เพื่อมีการสื่อสารและสืบทอดความคิดเหล่านี้ถ่ายทอดต่อไปยังลูกหลานที่สืบเผ่าพันธุ์ของตนเอง

          มนุษย์ใช้ความคิดเพื่อสร้างสรรค์ “สิ่ง”ใหม่เสมอ และมอบความหมายและตัวตนให้แก่ “สิ่ง” ทั้งหลายเหล่านั้นเพื่อประโยชน์ของมนุษย์เอง เช่น มนุษย์สามารถสร้างบ้านที่แข็งแรงทนทานต่อสภาพแวดล้อมที่เลวร้ายต่างๆนานาได้ ทั้งๆที่สัตว์อื่นๆบางชนิดยังต้องอาศัยตามป่าเขาหรือในแม่น้ำลำคลอง มนุษย์ใช้ความคิดสร้างเสื้อผผ้าขึ้นมาเพื่อปกป้องตนเองจากความร้อนหรือเย็น ในขณะที่สัตว์อื่นๆได้แต่เพียงอาศัยผิวหนังและขนที่ปกคลุมร่างกายของมันเองเพียงเท่านั้นที่จะใช้ปกป้องร่างกายของมันจากสภาพแวดล้อมนั้นๆ มนุษย์สามารถคิดค้นอาหารปรุงสุกรูปแบบต่างๆรวมทั้งยารักษาโรคและผลิตออกมามากมาย แต่สัตว์อื่นๆทั่วไปนั้นยังคงกินอาหารดิบๆและไม่สามารถคิดค้นผลิตยาเองได้เช่นมนุษย์เรา สิ่งเหล่านี้เป็นหลักฐานที่เห็นได้อย่างชัดแจ้งว่า มนุษย์นั้นใช้ความคิดเป็นพลังในการสร้างตัวตนของ “สิ่ง”ต่างๆนี้ได้ด้วยตนเอง

            นอกจากตัวตนในรูปแบบของรูปธรรมแล้ว มนุษย์เรายังใช้ความคิดสร้างสรรค์บุคลิกภาพของตัวมนุษย์แต่ละคนให้แตกต่างออกจากกันได้หลากหลายรูปแบบและมักจะถูกให้ความหมายออกมาในรูปของนามธรรม

            มีทฤษฎีมากมายที่กล่าวถึงการสร้างเสริมบุคลิกภาพที่ดี และก็มีหนังสืออีกเป็นร้อยเป็นพันเล่มเช่นกันที่กล่าวถึงวิธีการในการทำสร้างสรรค์และพัฒนาตนเองให้มีบุคลิกภาพที่ดี เพื่อให้เป็นที่ยอมรับของสังคม เพื่อให้เป็นคนที่ดี เพื่อให้เป็นคนที่รักของคนอื่นๆ เพื่ออย่างเหตุผลเหล่านั้นและเพื่อเหตุผลเหล่านี้ มนุษย์มีความคิดมากมาย และความคิดเหล่านี้เป็นสิ่งที่สร้างสรรค์บุคลิกภาพของพวกเขาเหล่านั้นขึ้นมาเองและมีแบบลักษณะเฉพาะตัวแตกแยกออกไปหลายๆลักษณะ ความคิดเชิงบวกของมนุษย์มักจะนำพามาซึ่งความสำเร็จและความสุข ในขณะที่ความคิดเชิงลบนั้นมักไม่ประสบผลสำเร็จและเกิดความล้มเหลว

             อีกทั้งพลังอำนาจของความคิดที่สามารถสร้างศิลปะต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นวรรณกรรม ดนตรี หรือศิลปะวรรณศิลป์ในด้านต่างๆ แนวความคิดทางปรัชญา หรือกระทั่งศาสตร์เชิงประยุกต์ เช่น เทคโนโลยี เป็นต้น (ในที่นี้ต้องทำความเข้าใจว่า เทคโนโลยีแยกออกมาจากคำว่าวิทยาศาสตร์ เพราะเทคโนโลยีมิได้เกิดจากวิทยาสตร์เพียงเดียว แต่อาจมีหลักการคล้ายๆกัน เป็นต้นว่า การใช้ไฟของมนุษย์หินโบราณ สามารถถือว่าเป็นเทคโนโลยีได้เช่นกัน) “มนุษย์เป็นได้ทุกอย่างที่เขาอยากเป็น” คำพูดนี้เห็นจะเป็นสิ่งที่ไม่เกินความเป็นจริงนักเมื่อย้อนมองดูอดีตที่ผ่านๆมาของมนุษยชาติของเรา มนุษย์อยากบินได้ ทุกวันนี้พี่น้องตระกูลไรท์ก็สามารถทำให้เราบินได้แล้วในปัจจุบัน มนุษย์อยากมีชีวิตที่ยืนยาวยิ่งขึ้น ทุกวันนี้มนุษย์ก็ได้คิดค้นพัฒนาความรู้ ยาและเครื่องมือทางการแพทย์ให้สามารถรักษาโรคได้มากขึ้นทำให้เราอยู่ได้นานขึ้น สิ่งเหล่านี้เป็นพลังแห่งความคิดในทางที่สร้างสรรค์เป็นความคิดที่ดีเพราะสร้างความรุ่งเรืองให้กับมนุษยชาติ แต่ถึงแม้ความคิดจะสามารถสร้างสรรค์สิ่งดีงามได้มากมาย ความคิดก็สามารถทำลายและมีแต่ความโหดร้ายทารุณได้เช่นกัน



 


Toolyada

พลังความคิด(1)

พลังความคิดของมนุษย์



“หากไม่มีความคิดแล้ว มนุษย์คงมีชีวิตเช่นเดียวกับสัตว์อื่นๆทั่วไป”


              มนุษย์ จัดเป็นสิ่งมีชีวิตในกลุ่มเลี้ยงลูกด้วยนม (Mammal) มีรูปร่างที่คล้ายคลึงกับลิงคน (Ape) มีการพัฒนาเรื่อยมานับตั้งแต่เริ่มแรกจากการเป็นมนุษย์โฮโม แฮบิลิส มนุษย์โฮโม อิเลคตัส พัฒนามาจนถึงรูปแบบปัจจุบันคือ มนุษย์โฮโม ซาเปียนส์ แต่ก่อนหน้านั้นมนุษย์ใช้ชีวิตตามสัญชาตญาณมากกว่าจะใช้ความคิดตามหลักตรรกเหตุผล มีสภาพความเป็นอยู่ตามสิ่งแวดล้อมนั้นๆ แต่อย่างไรก็ตามสิ่งมีชีวิตทุกชนิดย่อมมีการปรับตัวเพื่อดำรงชีวิตอยู่และสืบเผ่าพันธุ์ต่อให้สอดคล้องเกื้อกูลกัน ดังนั้นมนุษย์เองย่อมมีวิวัฒนาการเช่นเดียวกับสัตว์อื่น มนุษย์จึงวิวัฒนาการมาถึงการเป็นสัตว์โลกที่มีความสามารถเหนือสัตว์อื่นๆทุกชนิดด้วยสองมือ หัวสมองที่ใหญ่และกระดูกสันหลังที่ตั้งฉากกับพื้นโลก รวมกับการพัฒนาทางด้านความคิดที่ชาญฉลาด ทำให้มนุษย์มีบทบาทบนระบบนิเวศโลกที่แตกต่างไปจากสัตว์อื่นๆ มนุษย์สามารถจัดการเปลี่ยนแปลงสิ่งแวดล้อมต่างๆ โดยการใช้ความคิดเปลี่ยนแปลงสิ่งแวดล้อมนั้นๆให้เหมาะสมแก่การดำรงชีวิตอยู่และเพื่อความสะดวกสบายแก่ตนเอง มนุษย์อาศัยการวิวัฒนาการเหล่านี้สร้างสมประสบการณ์และค่อยๆพัฒนาทางความคิดเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ มีการคิด มีความรู้สึก และสร้างสรรค์สิ่งที่ทั้งดีและร้ายได้ ยิ่งมนุษย์มีความพยายามรักษาชีวิตมากขึ้นเท่าไหร่ มนุษย์ก็ยิ่งมีใช้ความคิดมากขึ้น คิดแล้วก็ทำ ทำแล้วก็คิดต่อไปอีกเรื่อยๆ ความคิดทำให้เกิดศาสตร์แขนงต่างๆ ศิลปะวิทยาการ เครื่องดนตรี ระบอบการเมืองการปกครอง สงคราม และการพัฒนา ความคิดของมนุษย์แต่ก่อให้เกิดผลลัพธ์ต่างๆมากมาย จนอาจจะกล่าวได้ว่า ความคิดนั้นถือเป็นพลังที่ขับเคลื่อนวิถีชีวิตที่ไม่ใช่เพียงแค่ของมนุษย์เท่านั้นแต่รวมทั้งระบบนิเวศของโลกให้เปลี่ยนแปลงไปได้ทุกๆทาง

พลังความคิด : การเรียนรู้

           มนุษย์มีการเรียนรู้ และการเรียนรู้เป็นนี่เองที่ทำให้มนุษย์สามารถก้าวข้ามขีดจำกัดของธรรมชาติและร่างกายตัวเองได้ มนุษย์รู้จักที่จะเรียนรู้ในสิ่งที่เกิดขึ้นต่างๆรอบตัวอย่างไม่มีที่สิ้นสุดในขณะเดียวกันมนุษย์ก็จดจำสิ่งที่เกิดขึ้นเหล่านั้นและคิดค้นเป็นทฤษฎีมากมาย การเรียนรู้นั้นคือกระบวนการที่ทำให้มนุษย์เปลี่ยนแปลงพฤติกรรม ความคิด มนุษย์สามารถเรียนได้จากการประสบพบเจอจากประสบการณ์ที่ผ่านๆมาและได้สัมผัสกับความจริงเหล่านี้ รู้และเข้าใจ จากนั้นจึงนำมาประยุกต์ใช้ วิเคราะห์ถึงองค์ประกอบและความความแตกต่างของสิ่งที่รู้มาใหม่กับสิ่งที่เคยพบเจอมาก่อน และสังเคราะห์ความรู้ที่ได้จากการวิเคราะห์นั้นนำไปใช้ประโยชน์ สิ้นสุดกระบวนการประการสุดท้ายคือ การประเมินค่าว่าสิ่งที่ได้เรียนรู้มานั้นมีความสำคัญมากน้อยเพียงไร และถูกผิดหรือไม่

ความหมายของการเรียนรู้ : ความหมายของคำว่า “การเรียนรู้” มีนักจิตวิทยาได้ให้ความหมายของการเรียนรู้ไว้หลายท่านในที่นี้จะสรุปพอเป็นแนวทางให้เข้าใจดังนี้คือ
การเรียนรู้ หมายถึง การที่มนุษย์ได้รับรู้ถึงสิ่งแวดล้อมที่อยู่รอบตัวเขา โดยเริ่มต้นตั้งแต่การมีปฏิสนธิอยู่ในครรภ์มารดาเรื่อยไป จนกระทั่งคลอดมาเป็นทารกแล้วอยู่รอด ซึ่งบุคคลก็ต้องปรับตัวเพื่อให้ตนเองอยู่รอดกับสิ่งแวดล้อมทั้งภายในครรภ์มารดาและเมื่อออกมาอยู่ภายนอกเพื่อให้ชีวิตดำรงอยู่รอดทั้งนี้ก็เพราะการเรียนรู้ทั้งสิ้น

การเรียนรู้ มีความหมายลึกซึ้งมากกว่าการสั่งสอน หรือการบอกเล่าให้เข้าใจและจำได้เท่านั้น ไม่ใช่เรื่องของการทำตามแบบ ไม่ได้มีความหมายต่อการเรียนในวิชาต่างๆเท่านั้น แต่ความหมายคลุมไปถึงการเปลี่ยนแปลงทางพฤติกรรมอันเป็นผลจากการสังเกตพิจารณา ไตร่ตรอง แก้ปัญหาทั้งปวง และไม่สามารถชี้ชัดว่าการเปลี่ยนแปลงนั้นเป็นไปในทางที่สังคมยอมรับหรือไม่ การเรียนรู้เป็นการปรับตัวให้เข้ากับสิ่งแวดล้อม การเรียนรู้เป็นความเจริญงอกงาม เน้นว่าการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมที่เป็นการเรียนรู้ต้องมาจากประสบการณ์ หรือการฝึกหัด และพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงไปนั้นควรจะต้องมีความคงทนถาวรเหมาะแก่เหตุเมื่อพฤติกรรมดั้งเดิมเปลี่ยนไปสู่พฤติกรรมที่มุ่งหวัง ก็แสดงว่าเกิดการเรียนรู้แล้ว

การเรียนรู้ หมายถึง การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมอันมีผลมาจากการได้มีประสบการณ์

การเรียนรู้ หมายถึง กระบวนการที่ทำให้เกิดกิจกรรม หรือ กระบวนการที่ทำให้กิจกรรมเปลี่ยนแปลงไปโดยเป็นผลตอบสนองจากสภาพการณ์หนึ่งซึ่งไม่ใช่ปฏิกิริยาธรรมชาติไม่ใช่วุฒิภาวะและไม่ใช่สภาพการเปลี่ยนแปลงของร่างกายชั่วครั้งชั่วคราวที่เนื่องมาจากความเหนื่อยล้าหรือฤทธิ์ยา

การเรียนรู้ หมายถึง กระบวนการที่เนื่องมาจากประสบการณ์ตรงและประสบการณ์อ้อมกระทำให้อินทรีย์เกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมค่อนข้างถาวร

การเรียนรู้ หมายถึง การเปลี่ยนแปลงค่อนข้างถาวรในพฤติกรรม ซึ่งเป็นผลของการฝึกหัด

           จากความหมายของการเรียนรู้ข้างต้นอาจสรุปได้ว่า การเรียนรู้ หมายถึง การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมอันเป็นผลจากการที่บุคคลทำกิจกรรมใดๆ ทำให้เกิดประสบการณ์และเกิดทักษะต่างๆ ขึ้นยังผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมค่อนข้างถาวร




Toolyada