วันศุกร์ที่ 21 มีนาคม พ.ศ. 2557

ความตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (TPP)

ความตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (TPP)
(Trans-Pacific Strategic Economic Partnership Agreement – TPP)

ความตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก หรือ TPP (Trans-Pacific Strategic Economic Partnership Agreement – TPP) ถูกจุดประกายครั้งแรกที่ขอบสนาม (sidelines) การประชุมผู้นำ APEC (Asia-Pacific Economic Cooperation) ที่เม็กซิโกในปี 2002โดย 3 ประเทศ ได้แก่ นิวซีแลนด์ สิงคโปร์ และชิลี และเคยเป็นที่รู้จักในชื่อ P3-CEP หรือ Pacific Three Closer Economic Partnership ต่อมาบรูไนซึ่งเคยเข้าร่วมในฐานะผู้สังเกตการณ์ (Associated Member หรือ Observer) ได้ลงนามเป็นสมาชิกในเดือนสิงหาคม ปี 2005 ทำให้ TPP มีจำนวนสมาชิกเพิ่มเป็น 4 ประเทศ จึงถูกเรียกว่า Pacific 4 หรือ P4 แต่ยังไม่มีบทบาทสำคัญและไม่ได้รับความสนใจจากประเทศสมาชิก APEC มากนักจนกระทั่งเมื่อประธานาธิบดีสหัฐฯ ประกาศสนับสนุน
TPP เป็นความตกลงการค้าเสรีที่มีลักษณะกว้างขวาง (Comprehensive Agreement) มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อลดภาษี (tariff) ในกลุ่มประเทศสมาชิกลง 90% ภายในปี 2006 และมุ่งให้ภาษีเป็น 0% ภายในปี 2015 นอกจากนี้ยังมีการเจรจาครอบคลุมประเด็นหลักอื่นๆ อาทิ การค้าสินค้า(Trade in Goods) กฎว่าด้วยแหล่งกำเนิดสินค้า (Rules of Origin) การเยียวยาทางการค้า (Trade Remedies) มาตรการสุขอนามัยและสุขอนามัยพืช (Sanitary and Phytosanitary Measures) อุปสรรคทางการค้า (Technical Barriers to Trade) การค้าบริการ (Trade in Services) ทรัพย์สินทางปัญญา (Intellectual Property) และนโยบายการแข่งขันและการจัดซื้อจัดหาโดยรัฐ(Government Procurement and Competition Policy) และต่อมาในภายหลัง ออสเตรเลีย เปรู และเวียดนาม ได้ประกาศความจำนงเข้าร่วมกรอบเจรจานี้ ตามมาด้วยมาเลเซียในปี 2010 ทำให้ TPP มีสมาชิกจำนวนทั้งสิ้น 9 ประเทศ ขณะนี้ แคนาดา ญี่ปุ่น เกาหลี จีน ฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซีย ได้แสดงความสนใจที่จะขอเข้าร่วมด้วย อีกทั้งเป็นไปได้ว่าไต้หวันจะขอเข้า TPP ด้วยเช่นกัน จึงพอสรุปได้ว่า ขณะนี้ทุกประเทศในอาเซียนที่เป็นสมาชิกเอเปค ได้แสดงความสนใจหรือเข้าสู่กระบวนการเจรจา TPP แล้ว ยกเว้นประเทศไทยเท่านั้น

ความตกลง TPP มีลักษณะหลักสำคัญ 5 ประการ ได้แก่
1.ยกเลิกภาษีนำเข้าและมาตรการกีดกันทางการค้าที่มิใช่ภาษีทั้งสินค้าและบริการ
2.เอื้ออำนวยต่อการพัฒนาห่วงโซ่อุปทานและการผลิต
3.ครอบคลุมถึงประเด็นที่มีความคาบเกี่ยวกัน รวมถึงความสอดคล้องด้านกฎระเบียบ การแข่งขันและการส่งเสริมธุรกิจ SME
4.ส่งเสริมการค้าและการลงทุนในสินค้าและบริการที่เป็นนวัตกรรมใหม่
5.สามารถตอบรับต่อภาวการณ์เปลี่ยนแปลงทางการค้าในอนาคตและเอื้ออำนวยต่อการเปิดรับประเทศสมาชิกใหม่เข้าร่วมเป็นภาคี

โดยความตกลง TPP จะมีขอบเขตอย่างกว้างขวาง (comprehensive) ครอบคลุมประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการค้าทั้งหมด รวมถึงประเด็นที่คาบเกี่ยวกัน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อลดต้นทุน เสริมสร้างการค้าในระดับภูมิภาค ส่งเสริมให้ธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมมีส่วนร่วมในการค้าระหว่างประเทศ และส่งเสริมการเจริญเติบโตทางเศรษบกิจ และยกระดับมาตรฐานการครองชีพ
ข้อบทของความตกลง TPP ได้มีการเจรจาต่อรองเกือบเสร็จทุกหัวข้อแล้ว มีเพียงบางหัวข้อเท่านั้นที่ยังมีประเด็นเฉพาะที่ยังไม่สามารถสรุปจบได้ สำหรับข้อทบของ TPP ครอบคลุมทุกด้านของความสัมพันธ์ทางการค้าระหว่างประเทศ ได้แก่ การแข่งขัน ความร่วมมือและการเสริมสร้างขีดความสามารถ การบริการข้ามพรมแดน พิธีการด้านศุลกากร พาณิชย์อิเล้กทรอนิกส์ สิ่งแวดล้อม การบริการด้านการเงิน การจัดซื้อจัดจ้างโดยรัฐ ทรัพย์สินทางปัญญา การลงทุน แรงงาน ประเด็นด้านกฎหมาย การเปิดตลาดสินค้า กฎถิ่นกำเนิดสินค้า มาตรการสุขอนามัยและสุขอนามัยพืช อุปสรรคทางเทคนิคต่อการค้า โทรคมนาคม การผ่านแดนชั่วคราว สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม และมาตรการเยียวยาการค้า

สำหรับความตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก หรือ TPP ถือเป็นยุทธศาสตร์สหรัฐอเมริกาต่อเอเชีย นั้นก็คือ การขยายความสัมพันธ์กับประเทศและหุ้นส่วนใหม่ๆ อันได้แก่

อินเดีย  : พยายามที่จะส่งเสริมปฏิสัมพันธ์กับอินเดียให้มากขึ้น โดยอินเดียกำลังจะมีบทบาทที่สำคัญมากขึ้นเรื่อยๆในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก
อินโดนีเซีย : สำหรับความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯกับอินโดนีเซีย กำลังพัฒนาไปอย่างรวดเร็ว  เมื่อช่วงปลายปีที่แล้วนายบารัค โอบามา ได้เดินทางไปเยือนอินโดนีเซียเป็นครั้งแรก ทำให้ความสัมพันธ์กระชับแน่นแฟ้นขึ้นมาก สหรัฐฯกำลังเพิ่มความร่วมมือกับอินโดนีเซียมากขึ้น โดยเฉพาะปีนี้ ที่อินโดนีเซียเป็นประธานอาเซียน และสหรัฐฯกำลังจะเข้าร่วมประชุม East Asia Summit ที่อินโดนีเซีย สหรัฐฯกำลังมองเห็นบทบาทของอินโดนีเซียที่กำลังผงาดขึ้นมาในเวทีโลก
มาเลเซีย : อีกประเทศที่สหรัฐฯให้ความสำคัญ คือ มาเลเซีย ซึ่งความสัมพันธ์ทวิภาคีกระชับแน่นแฟ้นมาก ขึ้น ทั้ง 2 ประเทศได้ร่วมมือกันในการเจรจา FTA ในกรอบ Trans-Pacific Partnership หรือ TPP
เวียดนาม : ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ปฏิสัมพันธ์กับเวียดนามได้เพิ่มขึ้นมาก และเวียดนามเป็นอีกหนึ่ง ประเทศที่กำลังเจรจา TPP กับสหรัฐฯ ในการพบปะกันระหว่าง Hillary Clinton กับนายกรัฐมนตรีของเวียดนาม เมื่อช่วงปลายปีที่แล้ว ทั้ง 2 ฝ่ายตกลงที่จะยกระดับความสัมพันธ์ให้เป็นระดับที่เรียกว่า หุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ หรือ strategic partnership อย่างไรก็ตาม สหรัฐฯยังคงห่วงกังวลต่อปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนในเวียดนาม
สิงคโปร์ : อีกประเทศที่สหรัฐฯให้ความสำคัญ คือ สิงคโปร์ โดยสิงคโปร์เป็นอีกประเทศหนึ่งที่เข้าร่วม TPP และในช่วงเดือนมีนาคมที่ผ่านมา สิงคโปร์ได้เป็นเจ้าภาพในการจัดประชุม TPP รอบที่ 6 ส่วนสำคัญที่สุดที่สหรัฐหันมาสนับสนุน TPP ก็เพราะสหรัฐกลัวการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจของประเทศในเอเชียตะวันออกโดยไม่มีสหรัฐ และกลัวว่าอิทธิพลทางเศรษฐกิจของสหรัฐจะตกต่ำลงไปเรื่อยๆ
รวมทั้งแนวโน้มที่สำคัญอย่างยิ่งในภูมิภาคที่ทำให้สหรัฐฯสนใจคือ แนวโน้มของการรวมตัวทางเศรษฐกิจของประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกโดยไม่มีสหรัฐรวมอยู่ด้วย ซึ่งรวมถึงกรอบ ASEAN+3 ที่จะพัฒนาไปเป็นประชาคมเอเชียตะวันออก และแนวคิดการจัดตั้งเขตการค้าเสรีเอเชียตะวันออก(East Asia Free Trade Area : EAFTA) นอกจากนี้ ยังได้มีการจัดตั้ง FTA อาเซียน-จีน อาเซียน-อินเดีย อาเซียน-ญี่ปุ่น อาเซียน-เกาหลี ฯลฯ และยังมี FTA ทวิภาคีอีกมากมาย อาทิ FTA ไทย-จีน ไทย-ญี่ปุ่น พัฒนาการของการจัดตั้ง FTA เหล่านี้ไม่มีสหรัฐรวมอยู่ด้วยเลย สหรัฐไม่มี FTA กับ อาเซียนทั้งกลุ่ม สหรัฐมี FTA ทวิภาคีกับสิงคโปร์ และออสเตรเลียเท่านั้น ดังนั้นหากสหรัฐไม่ดำเนินการอะไร อิทธิพลทางเศรษฐกิจของสหรัฐจะตกต่ำลงเรื่อยๆ มีการคาดการณ์กันว่า หากมีการจัดตั้งเขตการค้าเสรีเอเชียตะวันออกในกรอบ ASEAN+3 จะส่งผลกระทบต่อการส่งออกของสหรัฐ ซึ่งในระยะแรกจะกระทบ 25,000 ล้านเหรียญต่อปี และหากมีการจัดตั้งประชาคมเอเชียตะวันออกในกรอบ ASEAN+3 จะทำให้เศรษฐกิจโลกแบ่งเป็น 3 ขั้ว โดยขั้วเอเชียตะวันออกจะมีพลังอำนาจทางเศรษฐกิจไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าขั้วสหรัฐและขั้วยุโรป ดังนั้น การรวมกลุ่มของประเทศในเอเชียตะวันออกจึงท้าทายอำนาจและการครองความเป็นเจ้าในโลกของสหรัฐเป็นอย่างมาก และจะส่งผลกระทบในทางลบเป็นอย่างมากต่อผลประโยชน์ของสหรัฐในภูมิภาคดังนั้น เพื่อป้องกันผลกระทบในทางลบที่จะเกิดขึ้น สหรัฐจึงพยายามป้องกันไม่ให้เกิดการรวมกลุ่มของประเทศในเอเชียตะวันออก และผลักดันการรวมกลุ่มโดยมีสหรัฐเป็นแกน และผลักดัน FTA โดยมีสหรัฐเป็นแกน
อีกทั้งการผงาดขึ้นมาของจีน หรือ The Rise of China กำลังเป็นเรื่องที่มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อโลกในปัจจุบันและในอนาคต โดยจุดเด่นที่สุดของการผงาดขึ้นมาของจีน คือ ทางด้านเศรษฐกิจ โดยเศรษฐกิจของจีนได้ขยายตัวอย่างรวดเร็ว ในปัจจุบัน จีนได้ขยับขึ้นมาเป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจเป็นอันดับ 2 รองจากสหรัฐฯ โดยที่อัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของจีนสูงมาก คือ เกินกว่า 10% ทุกปี ดังนั้น หากจีนสามารถรักษาอัตรานี้ต่อไปได้ ภายในประมาณปี 2025 เศรษฐกิจของจีนน่าจะใหญ่เท่ากับเศรษฐกิจของสหรัฐฯ และเมื่อจุดแข็งที่สุดของจีน คือ อำนาจทางเศรษฐกิจ ซึ่งจะมีผลทำให้อำนาจทางทหารของจีนเพิ่มมากขึ้นด้วย โดยจีนได้ทุ่มงบประมาณทางทหารเพิ่มมากขึ้นทุกปี และได้เสริมสร้างสมรรถนะภาพทางทหารในทุกๆด้าน  ถึงแม้ว่า เม็ดเงินงบทหารของจีนจะยังคงน้อยกว่าสหรัฐฯอยู่มาก  แต่แนวโน้ม คือ จีนได้เพิ่มงบทหารเกือบ 20% ทุกปี ซึ่งจะทำให้ในอนาคต งบประมาณทางทหารของจีนจะขยับเข้าใกล้สหรัฐฯมากขึ้นทุกที ผลที่เด่นชัด คือ การผงาดขึ้นมาเป็นมหาอำนาจทางทหารในเอเชียตะวันออกของจีน แม้จีนจะยังไม่สามารถแข่งกับสหรัฐในระดับโลกได้ แต่ในภูมิภาคเอเชียตะวันออก อีกไม่นาน จีนจะท้าทายอำนาจทางทหารของสหรัฐฯได้ซึ่งเป็นสิ่งมหาอำนาจโลกอันดับหนึ่งของโลกในขณะนี้อย่างสหรัฐอเมริกากำลังหวาดระแวงไม่น้อย
ดังนั้นการสนับสนุนความตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก หรือ TPP จะช่วยเสริมสร้างความแข็งแกร่งและแรงคานให้แก่สหรัฐในภาคพื้นแปซิฟิก โดยเฉพาะอย่างยิ่งจีนที่กำลังรุดหน้าเจริญเติบโตทั้งทางรวดเร็ว นอกจากนี้เองประเทศสมาชิกยังจะได้รับผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจกับการร่วมมือทำความตกลงในครั้งนี้ด้วยเช่นกัน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น