รัชการที่ 4 พระบิดาดาราศาสตร์ไทย
พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 เสด็จพระราชสมภพเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 18 ตุลาคม พ.ศ. 2347 ในรัชกาลที่ 1 ตรงกับวันขึ้น 14 ค่ำ เดือน 11 ปีชวด จุลศักราช 1166 เป็นพระราชโอรสของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยรัชกาลที่ 2 (ขณะนั้นดำรงพระราชอิสริยยศเป็นสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าฯ กรมหลวงอิศรสุนทร) และเป็นโอรสพระองค์ที่ 2 ในสมเด็จพระศรีสุริเยนทราบรมราชินี
รัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นสมัยแรกของการเปลี่ยนแปลงบ้านเมืองเพื่อ ความทันสมัย ซึ่งเป็นการเปลี่ยนแปลงทางสังคมและวัฒนธรรมเพื่อให้เห็นว่าไทยเป็นประเทศที่ มีอารยธรรมและเป็นที่ยอมรับของนานาชาติ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงตระหนักว่า ประเทศไทยต้องยกเลิกการแยกตัวอยู่อย่างโดดเดี่ยวอย่างที่เคยทำมา ต้องยอมทำการค้ากับต่างประเทศและรับความคิดเห็นใหม่แบบตะวันตก การแก้ไขปรับปรุงการปกครองบ้านเมือง ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ภายนอกประเทศเป็นเรื่องจำเป็น รวมทั้งแก้ไขเปลี่ยนแปลงประเพณีล้าสมัย ทรงใช้พระบรมราโชบายเป็นสายกลางผสมผสานระหว่าง ตะวันตกและตะวันออก
ทรงใช้เวลาศึกษาภาษาละตินและภาษาอังกฤษ รวมทั้งศาสตร์แขนงต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นประวัติศาสตร์ การเมือง วรรณคดี ปรัชญา ไปจนถึง เรขาคณิต ตรีโกณมิติ วิทยาศาสตร์ โดยเฉพาะดาราศาสตร์ที่ทรงสนพระทัยเป็นพิเศษ หลักฐานอย่างหนึ่งที่ทรงนำความรู้เรื่องดาราศาสตร์มาใช้กับการกำหนดวันสำคัญทางศาสนาซึ่งมีขึ้นตามปฏิทินจันทรคติ คือ พระราชาธิบายเรื่องอธิกมาส อธิกวาร และปักขคณนาวิธี ซึ่งเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับการคำนวณปฏิทินจันทรคติแบบใหม่ที่ทรงประดิษฐ์คิดค้นขึ้นด้วยพระองค์เอง มีความแม่นยำถูกต้องตรงกับดวงจันทร์บนท้องฟ้ายิ่งกว่าปฏิทินที่ใช้อยู่เดิม
ความสนพระทัยในดาราศาสตร์มองเห็นได้จากการสั่งซื้อตำราดาราศาสตร์ กล้องโทรทรรศน์ และแผนที่ดาว จากต่างประเทศ เครื่องราชบรรณาการส่วนมากเป็นหนังสือและอุปกรณ์ทางวิทยาศาสตร์ เช่น เครื่องชั่ง ลูกโลก เทอร์มอมิเตอร์ เครื่องวัดความดันอากาศ สมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรียแห่งสหราชอาณาจักร ได้ถวายกล้องโทรทรรศน์ ซึ่ง เซอร์ จอห์น เบาริง ราชทูตแห่งสหราชอาณาจักร ได้บันทึกว่า "กล้องที่นำมาถวายมีคุณภาพต่ำกว่ากล้องโทรทรรศน์ที่ทรงมีอยู่แล้ว"
เซอร์ จอห์น เบาริง ยังเขียนเล่าไว้ว่า ห้องส่วนพระองค์เป็นห้องที่มีเครื่องมือวิทยาศาสตร์ เช่นเดียวกับห้องนักปราชญ์ราชบัณฑิตที่มั่งคั่งในทวีปยุโรปสมัยนั้น หมอเหา (เฮาส์) ได้บันทึกรายละเอียดไว้จากที่เขาได้เข้าเฝ้าที่วัดบวรนิเวศวิหาร เมื่อครั้งยังทรงผนวชอยู่ว่า "ข้าพเจ้าได้เหลียวมองไปรอบๆ ห้อง และเห็นพระคัมภีร์ไบเบิลของสมาคม เอ. บี. และพจนานุกรมเวบสเตอร์ตั้งเคียงบนชั้นบนโต๊ะเขียนหนังสือ นอกจากนั้นยังมีตารางดาราศาสตร์และการเดินเรือวางอยู่ด้วย ส่วนข้างบนอีกโต๊ะหนึ่งมีแผนผังอุปราคาที่จะเกิดขึ้นครั้งต่อไป มีรายการคำนวณเขียนไว้ด้วยดินสอ นอกจากนั้นยังมีแบบลอกแผนที่ของนายชานเดลอร์วางอยู่ด้วย"
พระราชกรณียกิจด้านดาราศาสตร์ที่สำคัญอย่างหนึ่งของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว คือ การสถาปนาเวลามาตรฐานของประเทศ ซึ่งขณะนั้นยังไม่มีการกำหนดให้เส้นลองจิจูดที่ผ่านหอดูดาวกรีนิชในอังกฤษเป็นเส้นเมริเดียนหลักของโลก แต่กลับมีหลักฐานว่าพระจอมเกล้าฯ ได้ทรงใช้การสังเกตการณ์ทางดาราศาสตร์สำหรับกำหนดเวลามาตรฐานของประเทศไทย โปรดฯ ให้สร้างพระที่นั่งภูวดลทัศไนย ซึ่งเป็นพระที่นั่งทรงยุโรปสูง 5 ชั้น บนยอดเป็นหอนาฬิกามีนาฬิกาขนาดใหญ่ทั้งสี่ด้าน แต่งตั้งพนักงานที่คอยวัดตำแหน่งดวงอาทิตย์ในเวลากลางวัน และดวงจันทร์ในเวลากลางคืน เพื่อปรับนาฬิกาให้เที่ยงตรงอยู่เสมอ
เหตุการณ์ที่เป็นที่กล่าวขวัญและเป็นที่มาของวันวิทยาศาสตร์แห่งชาติ คือ ปรากฏการณ์สุริยุปราคาเต็มดวงเมื่อวันที่ 18 สิงหาคม พ.ศ. 2411 หลักฐานจากประกาศหลายฉบับแสดงว่าพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงศึกษาการคำนวณเพื่อพยากรณ์ปรากฏการณ์ทางดาราศาสตร์หลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นสุริยุปราคา จันทรุปราคา ดาวพุธผ่านหน้าดวงอาทิตย์ ดวงจันทร์บังดาวเคราะห์ เป็นต้น ซึ่งถือเป็นสิ่งที่ต้องใช้เวลามาก ไม่ได้คำนวณได้รวดเร็วอย่างในปัจจุบัน
ทรงประกาศผลการคำนวณการเกิดสุริยุปราคาเต็มดวงครั้งนี้ล่วงหน้า 2 ปี และเชิญคณะสำรวจทั้งจากฝรั่งเศส อังกฤษ และสิงคโปร์ ร่วมทั้งข้าราชบริพารมากมาย เข้ามาร่วมสังเกตการณ์โดยทรงมีรับสั่งให้สร้างพลับพลาที่ประทับ ณ หว้ากอ ต.คลองวาฬ อ.เมืองฯ จ.ประจวบคีรีขันธ์ และทรงประทับรทอดพระเนตร ดวงอาทิตย์ที่ถูกดวงจันทร์บังมิดดวงอยู่นานถึง 6 นาที 46 วินาที นับว่าเป็นพระปรีชาชาญของพระองค์ที่สามารถ ทำนายการเกิดสุริยุปราคาได้อย่างแม่นยำ
ตามบันทึกนั้น ได้บันทึกไว้ว่า ในวันที่พระองคทรงคำนวนไว้ว่าจะเกิดสุริยุปราคานั้น มีแต่ฝนตกและท้องฟ้ามืดมัวจนเเทบจะมองไม่เห็นพระอาทิตย์ แต่ก็ได้บังเกิดเหตุอัศจรรย์ขึ้น กล่าวคือ เมื่อใกล้ถึงเวลาที่ทรงคำนวนไว้ท้องฟ้าก็สว่างเห็นพระอาทิตย์ชัดเจนและผู้ที่ติดตามไปทั้งหมดรวมทั้งชาวบ้านในบริเวณนั้นก็ได้เห็นสุริยุปราคากันโดยทั่ว เมื่อได้เห็นสุริยุปราคาแล้ว พระองค์เจ้าอยู่หัวทรงปิติยินดีเป็นล้นพ้น ชาวอังกฤษและชาวฝรั่งเศสที่ได้ติดตามไปนั้นต่างก็พากันแซ่ซ้องสรรเสริญว่า พระองค์นั้นเป็นนักดาราศาสตร์ที่ยอดเยี่ยมผู้หนึ่ง และทางฝ่ายไทยเองนั้นจึงได้ตระหนักว่า ดาราศาสตร์และโหราศาสตร์ของไทยในเวลานั้นได้พ้นสมัยไปเสียเเล้ว จึงจำเป็ฯจะต้องมีการพัฒนาเรียนรู้กันอย่างมาก และคืนนั้นเองพระองค์ได้พระราชทานเลี้ยงอย่างใหญ่โตมโหฬาร
เป็นที่น่าเสียดายว่า การเสด็จทอดพระเนตรสุริยุปราคาเต็มดวงครั้งนี้นั้นทำให้พระองค์ทรงประชวรเนื่องจากได้รับเชื้อไข้มาลาเรีย และเสด็จสวรรคตในวันที่ 1 ตุลาคม สร้างความเศร้าโศกแก่อาณาประชาราษฐ์เป็นอย่างมาก
หากไม่มีพระองค์ท่านเป็นนักดาราศาสตร์แล้ว ก็ไม่แน่ใจว่าวงการดาราศาสตร์ไทยของเราจะเริ่มต้นช้าไปกว่านี้เท่าไหร่ค่ะ
อ้างอิง :-
1. ลำจุล ฮวบเจริญ, เกร็ดพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์, กรุงเทพฯ: the knowledge center, 2550
2.http://thaiastro.nectec.or.th/library/kingmongkut_bicentennial/kingmongkut_bicentennial.html
3.http://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B8%9E%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%9A%E0%B8%B2%E0%B8%97%E0%B8%AA%E0%B8%A1%E0%B9%80%E0%B8%94%E0%B9%87%E0%B8%88%E0%B8%9E%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%88%E0%B8%AD%E0%B8%A1%E0%B9%80%E0%B8%81%E0%B8%A5%E0%B9%89%E0%B8%B2%E0%B9%80%E0%B8%88%E0%B9%89%E0%B8%B2%E0%B8%AD%E0%B8%A2%E0%B8%B9%E0%B9%88%E0%B8%AB%E0%B8%B1%E0%B8%A7
4. http://www.mahamakuta.inet.co.th/buddhism/rama/rama4.html
5. http://www.skoolbuz.com/_module/library/detail.php?con_id=1379
ที่มาของบทความ
หลังจากเมื่อปีที่ผ่านมาเป็นปีแห่งดาราศาสตร์สากล ซึ่งประเทศไทยเราเองนั้นก็ได้มีการจัดกิจกรรมกันตลอดทั้งปีค่ะ โดยเราเองนั้นมีโอกาสได้ไปร่วมงานนิทรรศการกล้องโทรทรรศน์ที่เซ็นทรัล แอร์พอร์ต เชียงใหม่มาเมื่อประมาณปลายที่ 2553 (ด้วยความบังเอิญค่ะ) จึงคิดว่า...ในเมื่อมีกาลิเลโอเป็นตัวพ่อของวงการดาราศาสตร์สากล แล้วมีใครบ้างที่มีความสามารถด้านดาราศาสตร์อย่างมากจนน่ายกย่องเกียวกับวิชาการทางด้านดาราศาสตร์บ้าง...คิดถึงความรู้สมัยมัธยมก็นึกขึ้นได้ว่า บุคคลผู้นั้น คือ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว หรือ รัชกาลที่ 4 นี่อย่างไรเล่าที่เปรียบดั่งพระราชบิดาแห่งดาราศาสตร์ของประเทศไทย จึงรวบรวมข้อมูลมาจัดทำบทความนี่ขึ้นมาค่ะ
อาทิตย์ที่ผ่านมาเราได้มีโอกาสเรียนวิชา TU 130 กับ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.เรืองศักดิ์ ทรงสถาพร ซึ่งท่านเป็นอาจารย์ที่มีความรู้รอบเจนจัดในด้านวิทยาศาสตร์อย่างมากค่ะ เรามีโอกาสได้พูดคุยกับท่านบ้าง 2- 3 ครั้ง เพราะประทับใจในบุคลิกและการสอนของท่านที่อธิบายเรื่องวิทยาศาสตร์ให้เข้าใจได้ง่ายและสนุกแก่นักศึกษา
มีอยู่หนหนึ่งเรามีโอกาสได้พูดกับอาจารย์และคุยกันเกี่ยวกับปัญหาสิ่งแวดล้อมที่เราสนใจเป็นการส่วนตัวอยู่แล้ว หลังจากการสนทนาครั้งนั้นเราก็ชื่นชมท่านมากค่ะ นอกจากท่านจะเป็นผู้ใหญ่ใจดีแล้วท่านยังมองปัญหาต่างๆที่กำลังเกิดขึ้นและยังกรุณาขยายความเข้าใจ เปิดโลกทัศน์ทางความคิดของเราให้กว้างไกลมากขึ้นค่ะ อาจารย์เรืองศักดิ์ท่านจบจบจากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ในระดับปริญญาตรี และจบปริญญาโทและเอก จากอังกฤษและอเมริกา เกี่ยวกับฟิสิกส์ดาราศาสตร์ค่ะ
ซึ่งพอดีกับที่ว่าเรากำลังเรียนเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ไทยในสมัยรัชกาลที่ 4 ในวิชา TU 111 พอดิบพอดี ทำให้ต้องทำงานหาข้อมูลเกี่ยวกับพระราชประวัติของรัชกาลที่ 4 แล้วอ่านพบว่าพระองค์ท่านนั้น มีพระราชกรณียกิจทางด้านวิทยาศาสตร์อย่างเด่นชัดปรากฏอยู่ นั้นก็คือ พระปรีชาชาญในด้านดาราศาสตร์นั้นเองค่ะ เราจึงค้นหาข้อมูลเพิ่มเติมเพื่อจัดทำบทความเรื่องนี้ขึ้นมาค่ะ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น